ข้อมูลทั่วไป
ชาติพันธุ์ไทขึนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาในตระกูลไต-กะได (Tai – Kadai Language Family) และอยู่ในกลุ่มไต (Tai) สาขาตะวันออกเฉียงใต้ แต่เดิมนั้นมีถิ่นฐานพำนักอาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง หัวเมืองใหญ่ทางตะวันออกของที่ราบสูงฉาน ซึ่งเป็นนครรัฐที่รุ่งเรืองโดดเด่นเทียบเคียงกับเมืองเชียงรุ่งของชาวไทลื้อสิบสองพันนาและเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันเมืองเชียงตุงอยู่ในรัฐฉาน เขตปกครองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
เมืองเชียงตุง มีแม่น้ำที่ช่วยระบายน้ำจากหนองตุง โดยไหลย้อนไปทางทิศเหนือ แล้วค่อยไหลลงทางทิศใต้ มีชื่อว่า แม่น้ำขืน (ขึน) สาเหตุที่เรียกว่า ขืน (ขึน) เพราะในเอเชียอาคเนย์แม่น้ำใหญ่ทุกสาย เช่น แม่โขง แม่ปิง แม่คง จะไหลลงทางใต้ ในขณะที่เมืองเชียงตุงมีแม่น้ำขืน (ขึน)ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ ชนชาติที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำขืน (ขึน) จึงเรียกว่า “ชาวขืนหรือ ขึน”
อย่างไรก็ตามในสมัยก่อนนอกจากการมีถิ่นฐานพำนักอาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุงแล้ว ยังมีชาวไทขึนบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ในเมืองเล็กเมืองน้อย รวมไปจนถึงพื้นที่ของสิบสองพันนา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าหรือขนส่งสินค้า ทั้งนี้เนื่องจากการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองต่าง ๆ มีระยะทางยาวไกล สภาพภูมิประเทศทำให้การเดินทางรอนแรมลำบาก จำเป็นต้องมีการหยุดพักค้างแรมเพื่อให้ทั้งคนและสัตว์พาหนะ (วัวต่างม้าต่าง : สำหรับการบรรทุกขนย้ายสินค้า) ได้พักผ่อน การมีที่พำนักอาศัยระหว่างเส้นทางจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อระยะเวลาผ่านไปก็มีการตั้งเป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัย มีการแต่งงานกับคนในพื้นที่ เช่น ไทลื้อ ไทยอง หรือไทขึนด้วยกันเอง
ชาติพันธุ์ไทขึนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น ภาษา การแต่งกาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี จารีต ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ การตั้งถิ่นฐานปัจจุบันพบว่าอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย
ภาษาที่ใช้พูดและเขียน
ภาษาพูดและภาษาเขียนของไทขึน มีความคล้ายคลึงกันกับภาษาไทลื้อและภาษาไทยอง ภาษาไทขึนเป็นภาษาในกลุ่มภาษาย่อยไทพายัพ ในกลุ่มภาษาคํา-ไต ตระกูลภาษาไต-กะได ชาวไทขึนใช้อักษรชนิดเดียวกันกับอักษรล้านนา (ตัวเมือง) เพราะชาวได้รับเอารูปแบบจากล้านนาโดยตรงและมีความเกี่ยวข้องกันมานาน กล่าวคือ พญามังราย (พ.ศ. 1782—1854) ได้สร้างเมืองเชียงตุงขึ้น เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศเหนือของอาณาจักรล้านนา เป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองในลักษณะเครือญาติ โดยส่งเชื้อพระวงศ์และขุนนางใกล้ชิดไปปกครอง ถือได้เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามการเขียนของภาษาไทขึนจะคล้ายคลึงไปทางภาษาพม่าและภาษาไทใหญ่มากกว่า คือ ตัวอักษรจะกลม หางสั้น และมีหยักน้อยกว่าอักษรล้านนา ซึ่งอักษรล้านนาจะคล้ายคลึงอักษรขอม จึงไม่กลมแต่แหลม มีหยักมาก มีหางยาว ซึ่งบางครั้งยาวเกินพอดี สันนิษฐานได้ว่าอาจเนื่องเพราะชาวไทขึนได้รับอิทธิพลจากทางพม่าและไทใหญ่ในระยะภายหลัง เนื่องจากเมืองเชียงตุงซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวไทขึนตกเป็นประเทศราชของพม่า หลังจากอาณาจักรล้านนาและราชวงศ์มังรายล่มสลายเนื่องจากถูกพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมายึดเมืองเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2101

ภาพตัวอักษรไทขึน
ชาวไทขึนชุมชนวัดสีมารามช่วงที่อพยพมาที่ชุมชนบ้านมอญในยุคแรกยังคงมีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง คือ ภาษาขึน แต่ปัจจุบันภาษาพูดเป็นภาษาล้านนาหรือคำเมือง ส่วนภาษาเขียนเป็นภาษาของไทยกลาง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากในปี พ.ศ. 2446 รัฐบาลสยามซึ่งควบคุมหัวเมืองล้านนาในขณะนั้น ต้องการให้ล้านนายอมรับอำนาจของสยามด้วยการครอบงำผ่านระบบราชการ ได้มีการกำหนดให้ใช้ภาษาสยาม (ไทยกลาง) สอนในระบบโรงเรียนต่าง ๆ และอีกทศวรรษต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2456 ภาษาเมือง “ตัวเมือง หรืออักษรธรรมล้านนา” ถูกสั่งห้ามใช้ในการเรียนการสอน ส่งผลให้ลูกหลานชาวไทขึนขาดโอกาสในการเรียนรู้ภาษาขึนไปด้วย
ลักษณะการพูดออกเสียงในภาษาขึน
ภาษาขึน เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาลื้อหรือภาษาล้านนา (คำเมือง) จะเป็นภาษาที่มีเสียงสูงกว่า และการพูดคุยกันจะคุยเสียงดังกว่า เป็นลักษณะของการพูดเฉพาะตัวของภาษาขึน อย่างไรก็ตามสำเนียงภาษาขึนก็จะแตกต่างผิดเพี้ยนกันในแต่ละพื้นที่ คล้ายคลึงกับภาษาล้านนาหรือคำเมืองในภาคเหนือ ซึ่งมีสำเนียงต่างกันไปในแต่ละจังหวัด เช่น สำเนียงจังหวัดเชียงใหม่ สำเนียงจังหวัดเชียงราย
การออกเสียงที่สูงของภาษาขึนนี้อาจเป็นสาเหตุให้การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนมีหลายชื่อ กล่าวคือ คำว่า “ไทขึน” เมื่อชาวขึนพูดออกเสียงสำเนียงมา จะได้ยินเป็น “ไทขึ้น” หรือ “ไทเขิน” ตามสำเนียงภาษาไทยกลาง ประกอบกับอาชีพงานหัตถกรรมของชาวไทขึนอย่างหนึ่งเมื่ออพยพมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่คือการทำเครื่องเขิน ทำให้มีการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทขึนเป็น “ไทเขิน” ด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ภาษาขึนจะมีทำนองเสียงค่อนข้างสูง แต่ก็ยังสามารถสื่อสาร พูดคุยและเข้าใจระหว่างชาติพันธุ์ในกลุ่มภาษาเดียวกันหรือภาษาใกล้เคียงได้ เช่น ไทลื้อ ไทยอง หรือไทยวน แต่อาจมีศัพท์เฉพาะของภาษาขึนบางคําที่ไม่ทราบหรือไม่ตรงกัน เช่น
ภาษาขึน |
ความหมาย |
ย้าเกา |
รุกราน |
ค้อ |
คน |
แค้ม |
ยอดเยี่ยม |
ชุกชัก |
ยุ่งยาก |
ผาน |
ยากจน |
มังควย |
แหวน |
ยำครพ |
เคารพ |
อ้วน |
อ่อนเพลีย |
